logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)

ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม มีแก๊ส (Abdominal bloating) เป็นอาการที่รู้สึกแน่นอึดอัดในท้อง เนื่องจากมีลมมากในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทั้งนี้บ่อยครั้งที่จะรู้สึกท้องใหญ่ขึ้นด้วย

สาเหตุของอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส อาจเกิดจากการดื่มน้ำอัดลม เคี้ยวหมากฝรั่ง กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก หรือกินอาหารที่สร้างแก๊สได้สูง เช่น ผักต่างๆ และผลไม้ดิบ กลืนอากาศมากกว่าปกติ เช่น สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง กิน/เคี้ยวเร็ว อมลูกอม/ทอฟฟี่ ใช้หลอดดูดน้ำ/อาหาร และใส่ฟันปลอมที่หลวมไม่พอดี นอกจากนี้อาจเกิดจากท้องผูก ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ซึ่งส่งผลต่อการสร้างกรดในกระเพาะอาหารและการเคลื่อนไหวบีบตัวของลำไส้ หรือเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด และบางครั้งอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส อาจเป็นอาการของโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมะเร็งรังไข่ หรือภาวะท้องมาน

อาหารหลักที่สร้างแก๊ส คือ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โดยเฉพาะประเภทมีใยอาหารสูง ส่วนโปรตีนและไขมันสร้างแก๊สได้บ้าง แต่ไม่มากเท่าคาร์โบไฮเดรต อย่างไรก็ตามอาหารไขมันเป็นอาหารที่ย่อยยาก มักค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน ถ้ากินในปริมาณมากจึงมักก่ออาการท้องอืด/แน่นท้องได้

  • น้ำตาล  ชนิดที่ก่อแก๊สได้มาก เช่น
    • น้ำตาล ราฟฟิโนส (Raffinose) พบมากในถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งถั่วกินทั้งฝัก ผักกะหล่ำ บรอคโคลิ หน่อไม้ฝรั่ง และธัญพืชเต็มเมล็ด
    • น้ำตาลแลคโตส (Lactose) เป็นน้ำตาลในนม ดังนั้นในบางคนเมื่อดื่มนม จึงเกิดอาการท้องอืด แน่น เนื่องจากขาดหรือมีน้ำย่อยน้ำตาลชนิดนี้น้อย (ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส) ซึ่งมักพบในคนชาติเอเชีย
    • น้ำตาลฟลุคโตส (Fluctose) ซึ่งมีมากในผลไม้ หัวหอม ลูกแพร์ และข้าวสาลี
    • น้ำตาลซอร์บิโทล (Sorbitol) ซึ่งใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารและขนมต่างๆ เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม และผลไม้ที่พบในปริมาณมาก คือ แอปเปิล ลูกพีช ลูกแพร์ และลูกพรุน
  • แป้ง  ชนิดก่อแก๊สได้มาก เช่น แป้งจาก มันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวสาลี ยกเว้นข้าว ซึ่งให้แป้งที่ก่อแก๊สได้น้อยมาก
  • ใยอาหาร (Dietary fiber) คือ อาหารที่ได้จากพืช และร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ จึงผ่านจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ โดยส่วนที่ละลายน้ำได้ของใยอาหาร แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะหมักและทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้น แต่ส่วนที่ละลายไม่ได้จะดูดซึมน้ำ และร่างกายจะขับออกเป็นอุจจาระ ซึ่งคุณสมบัตินี้ช่วยในการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูก อาหารที่มีใยอาหาร คือ ผักและผลไม้ทุกชนิด แต่ที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่วต่างๆ ถั่วกินทั้งฝัก มันเทศ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวโอต หัวหอม กล้วย พรุน อัลมอนด์ แอบเปิล แพร์ อะโวคาโด และเปลือกผลไม้
  • ปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่ม กินอาหารในแต่ละมื้อลดปริมาณลง และสังเกต/ปรับชนิดของประเภทอาหาร/เครื่องดื่ม
  • กินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มช้าๆ
  • จำกัดอาหารไขมัน
  • หลังกินอาหารควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวลำไส้ กำจัดแก๊สออกจากกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
  • เลิกบุหรี่ หมากฝรั่ง อมลูกอม
  • ปรึกษาทันตแพทย์เรื่องฟันปลอม
  • รักษาสุขภาพจิต